รวมพลัง ร่วมกันยุติ “วัณโรค”
“วันวัณโรคโลก” ตรงกับวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ (IUATLD: International Union Against Tuberculosis and Lung Disease)
ได้เสนอให้กำหนดวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี เป็นวันวัณโรคโลก (World TB Day) อย่างเป็นทางการ เพื่อย้ำเตือนให้ประชากรทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายของวันโรค และร่วมกันยุติการระบาดของวันโรค
วัณโรคคืออะไร
วัณโรค (Tuberculosis) หรือเรียกย่อกันว่า ทีบี (TB) คือ โรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าไมโคแบคทีเรียม (Mycobacteriam tuberculosis) เป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ซึ่งนับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นโรคติดเชื้อที่แพร่ได้ง่าย โดยการกระจายของละอองฝอยขนาดเล็กในอากาศ ถ้าผู้ติดเชื้อมีการไอหรือจาม
วัณโรคสามารถตรวจหาได้ และรักษาให้หายได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี หรือล่าช้า อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ และยังสามารถแพร่ไปสู่คนใกล้ชิดได้ การกินยาต้องใช้เวลานาน หากกินอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง จะทำให้ลดปัญหาจากการดื้อยา และทำให้โรคหายขาด ไม่กลับเป็นซ้ำ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
ปัญหาวัณโรคนี้สำคัญระดับใด
ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อวัณโรคจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อนและประเทศกำลังพัฒนาตามภาพที่ 1 โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศรายชื่อของประเทศที่มีการติดเชื้อวัณโรคสูง 30 ลำดับใน 3 กลุ่มสำคัญ ประกอบด้วย
1. รายชื่อประเทศที่มีการติดเชื้อวัณโรคสูง
2. รายชื่อประเทศที่มีการติดเชื้อวัณโรคร่วมการติดเชื้อเอชไอวีสูง
3. รายชื่อประเทศที่มีการติดเชื้อวัณโรคชนิดดื้อยาไรแฟมพิซิน และดื้อยาหลายขนานสูง
เป้าหมายการกำจัดวัณโรคของประเทศไทย
ประเทศไทยมีการตั้งเป้าหมายเพื่อกำจัดวัณโรคให้หมดไป หรือที่เรียกว่า “TB-free Thailand” ภายในปี พ.ศ. 2578 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ในส่วนของเป้าหมายที่ 3 : สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย จากทั้งหมด 17 เป้าหมาย
วัณโรคติดต่อได้อย่างไร
วัณโรคติดต่อจากละอองเสมหะของผู้ติดเชื้อ ขณะไอจามหรือพูดคุย โดยเชื้อจะอยู่ในอากาศได้นานถึง 10 วัน แต่หากโดนแสงแดด อาจโดยทำลายได้ภายใน 2 ชั่วโมง แต่ถ้าโดนน้ำเดือดอาจตายภายใน 10 นาที
วัณโรคพบในส่วนใดของร่างกาย
วัณโรคมักพบที่ปอดและต่อมน้ำเหลือง แต่อาจเกิดการติดเชื้อได้ในอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น กระดูก ผิวหนัง เยื่อหุ้มสมอง ลำไส้ ทางเดินปัสสาวะ เยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น
จะทราบได้อย่างไร ว่าเป็นวัณโรค
สังเกตจากอาการและอาการแสดง โดยที่ผู้ที่เป็นวัณโรคมักมีอาการไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ บางครั้งมีเลือดปน อาจมีไข้ต่ำๆ เรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลดผิดปกติ เหนื่อยหอบ เหงื่อออกกลางคืน หรือต่อมน้ำเหลืองโตผิดปกติ อาการอื่น ๆ มักจะขึ้นกับว่าติดเชื้อวัณโรคที่ส่วนใดของร่างกาย เช่น หากติดเชื้อที่กระดูก อาจเกิดการปวดกระดูกและข้อเรื้อรัง เป็นต้น
หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้ ควรแนะนำให้พบแพทย์เพื่อประเมินโดยการตรวจร่างกาย การส่งเอกซเรย์ปอด และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป โดยสามารถตรวจเสมหะทางกล้องจุลทรรศน์โดยการย้อมสีที่จำเพาะกับวัณโรค การเพาะเชื้อวัณโรคและการตรวจทางอณูชีววิทยา